ปัจจุบันสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ และยังมีแนวโน้มของการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มักได้รับความนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว การที่จะทำให้ผู้ใช้บริการทั้งชาวไทยและต่างชาติเกิดความประทับใจในธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและกลับมาใช้บริการซ้ำ สถานประกอบการจำเป็นต้องให้บริการด้วยความเอาใจใส่ ให้บริการด้วยความชำนาญ หรือจัดการให้บริการอย่างมีคุณภาพ
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับและดูแลสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่การบริการผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวยตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการการ พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป จึงเห็นความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน โดยมีเกณฑ์และตัวชี้วัดที่สูงขึ้นอันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการให้บริการสปาไทยสู่ระดับสากล
ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์สถาบันการศึกษา สมาพันธ์ สปาไทย และสมาคมสปาต่าง ๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพสู่ระดับสากล ทั้งนี้ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “คุณภาพสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพต้องเป็นที่ยอมรับในด้านการบริการและการบริหารจัดการมาตรฐานสู่ระดับสากล” การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับPlatinum ระดับ Gold และระดับ Silver โดยใช้กลวิธีและกระบวนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานให้เข้าสู่ระบบ เกิดความรู้ความเข้าใจ และถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ให้เป็นที่ยอมรับในการให้บริการในสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพของไทยต่อไป
รัฐบาลไทย ให้ความสำคัญและเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และมีเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ต้องการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 จากข้อมูลรายงาน เศรษฐกิจอุตสาหกรรมการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Economy) มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมูลค่า 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตสู่ 6.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 โดยสัดส่วนมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมการส่งเสริมสุขภาพ ร้อยละ 70 อยู่ที่ 4 สาขา ได้แก่ 1) การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและความงาม สัดส่วนร้อยละ 19.90 2) โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วนร้อยละ 17.04 3) การออกกำลังกาย สัดส่วนร้อยละ 16.89 และ 4) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สัดส่วนร้อยละ 15.88 การที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพของตนเอง มีความต้องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมากขึ้น แทนที่การท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีคุณภาพและกำลังซื้อสูง ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) สูงถึง 12.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน (Global Wellness Institute, 2563) รูปแบบของการบริการสุขภาพที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวต่างชาติที่ผ่านมาได้แก่ นวดไทยเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อเสริมความงาม สปาน้ำพุร้อน การใช้สมุนไพรไทย อาหารสุขภาพ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สถานที่พักผ่อนและตากอากาศ เพื่อสุขภาพ (Wellness Resort)
กลยุทธ์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งเสริมสุขภาพของประเทศไทยที่สำคัญประการหนึ่งคือ การพัฒนาศักยภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เข้าสู่ความเป็นสถานประกอบการเวลเนส และส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เนื่องจากสถานประกอบการเวลเนส เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มของการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมและบริการสุขภาพที่มักได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้จัดทำเกณฑ์รางวัลคุณภาพสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระดับชาติ (Thailand Wellness Awards : TiWA) โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ได้แก่ การทบทวนเอกสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำร่างเกณฑ์รางวัล การทดสอบเกณฑ์ฯ กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และ ประชาพิจารณ์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกณฑ์รางวัลคุณภาพดังกล่าวนี้ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพบริการและกิจกรรมบริการเวลเนสของสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีการผสมผสานแนวคิดการเสริมสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของความเป็นไทย ได้แก่ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทย และภูมิปัญญาสากล ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งสร้างคุณค่าของธุรกิจบริการในอุตสาหกรรมเวลเนสให้เป็นที่รับรู้และดึงดูดใจกับท่องเที่ยวทั่วโลก เป้าหมายคือ การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระดับชาติ และส่งเสริมให้พัฒนาต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย
การพัฒนาด้านการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)
สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการเเพทย์ครบวงจร กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ชั้น 5 อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เลขที่ 88/44 หมู่ 4 ซอยสาธารณสุข 8 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000